ประวัติและความเป็นมาของโครงการ
ปัตตานีนับเป็นพื้นที่ที่คุณสมบัติพิเศษและ
มีศักยภาพในด้านต่างๆมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภูมิศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของจังหวัด
ซึ่งมีความเหมาะสมและความพร้อม ในการที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในด้านต่างๆของภูมิภาคอา ทิเช่น ศูนย์กลางทางการพานิชย์นาวี, อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์,
ศูนย์กลางทางด้านศาสนา และการศึกษาอิสลาม ดังที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แต่ด้วยกับปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบ
ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริตและโปร่งใส ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน
จึงเป็นเหตุให้ภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ ต้องตกอยู่ในสภาพล้าหลัง
ในเรื่องของการพัฒนาและมาตรฐานการดำเนินชีวิต เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของประเทศ
ด้วยเหตุนี้เองที่องค์กรเอกชน
ที่เป็นคนในท้องถิ่นและมีจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาและต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชน ให้มีคุณภาพทัดเทียม กับประชาชนไทยในส่วนอื่นๆของประเทศ
อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สมาคมแพทย์และสาธารณสุขจันทร์เสี้ยว สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามต่างๆ
ทั้งในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง ที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาภายใต้ชื่อ
เครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ได้มีการคิดปรึกษาหารือ และร่วมมือกันหาวิธีการที่ดีที่สุด
ในการแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่
และผู้คนจากท้องที่อื่นที่เข้ามาประกอบอาชีพและรับการศึกษา
ให้ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกัน ของกลุ่มองค์กรดังกล่าวรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
ส่วนต่างๆ ทั้ง ผู้ว่า หน่วยงานทางทหาร
และองค์กรภาครัฐอื่นๆ ซึ่งเขาเหล่านั้น
อาจจะได้นำแนวคิดและแบบอย่างที่ดีกลับไปพัฒนาและเผยแพร่ในท้องถิ่นหรือบ้านเกิดของตนต่อไป
จากการพบพูดคุยและ ประชุมร่วมกันหลายต่อหลายครั้ง
ทำให้ทราบได้ว่าการพัฒนาที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนนั้น
จะต้องมีการพัฒนาร่วมกันในด้านต่างๆอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา
ศาสนาและจริยธรรม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ
ตลอดจนการมีที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีองค์ประกอบต่างๆข้างต้นอย่าง
ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ
เท่านั้นที่จะทำให้การพัฒนาประเทศมีประสิทธิภาพตอบสนองต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้หน่วยงานหรือองค์กรภาคเอกชนทั้ง
3 องค์กร
จึงได้มีความเห็นตรงกันให้มีการจัดตั้งเมืองต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
จากศักยภาพและบุคลากรที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ ร่วมกับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ
และผู้มีจิตศรัทธาทั้งจากในและนอกประเทศขึ้นภายใต้ แนวคิดเมืองต้นแบบ ปัตตานี จายา
ปัตตานี จายา
ดำเนินการบริหารโดย บริษัท ปัตตานี จายา โฮลดิ้ง จำกัด
ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานข้างต้นในรูปแบบนิติบุคคล
จัดตั้งขึ้นมาโดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในสังคมร่วมรับผิดชอบดูแล
มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเมืองปัตตานีจายา ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิด “เมืองสันติ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า”
เป้าหมายของโครงการ
ปัตตานีจายา
เป็นโครงการถูกริเริ่มขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาคุณภาพและ
มาตรฐานการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น :
ด้านสันติภาพ
ปัตตานีจายาเป็นสังคมที่ต้องการนำเสนอแบบอย่างแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติภาพ
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอบายมุข ปราศจากสิ่งเสื่อมเสียทางสังคม
เป็นการออกแบบสังคมให้มีเฉพาะสิ่งดีๆ
ที่สามารถสัมผัสได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงหมดชั่วอายุคน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Education City) เป็นสังคมที่ต้องการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาวิถีชีวิตผู้คนให้เทียบเท่าหรือดีกว่าสังคมอื่นๆ
ได้อย่างภาคภูมิใจ
สามารถแข่งขันทั้งด้านการประกอบอาชีพและด้านอื่นๆ
ได้อย่างทัดเทียมกับผู้คนในสังคมอื่นๆ ทำให้ช่วยลดปัญหาด้านอาชญากรรม
ปัญหาด้านความมั่นคง และก่อให้เกิดสันติภาพได้อย่างยั่งยืน
แม้แต่การออกแบบก็ได้นำเอาสถาปัตยกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ไทย ชิโนโปรตุเกส
และมลายูมาใช้
เพื่อเป็นการสื่อสารกับสังคมว่าเราสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีตามต้องการได้ภายใต้ประเทศไทยที่น่าอยู่แห่งนี้
ด้านศาสนาและจริยธรรม
เพื่อสร้างสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของการยำเกรง
(ตักวา) และหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ การมีมารยาทที่ดีสามารถเป็นตัวอย่างซึ่งกันและกันได้ในสังคมปัตตานีจายา
สามารถเป็นตัวอย่างการดำรงชีวิต การอยู่อาศัยทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ
ให้กับสังคมอื่นๆ
สามารถสืบทอดความรู้และเผยแพร่หลักการที่ถูกต้องของศาสนาอิสลามแก่ประชาชนทั่วไป
ด้านการศึกษา
สร้างแหล่งต้นแบบในการแสวงหาความรู้ทั้งความรู้ในการดำรงชีวิตในดุนยา
และองค์ความรู้ในการนำพาตัวเราเองให้ปลอดภัยในอาคีเราะห์
และมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่
ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับประชาชนไทยในส่วนอื่นๆของประเทศ
ด้านสาธารณสุข
เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์,สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่สาธารณชนทั่วไปโดยมีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ดูแลในเรื่องการผลิตบุคลากรเหล่านี้
ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์และความต้องการด้านการแพทย์ในพื้นที่
อีกทั้งสร้างรูปแบบการบริการทางการแพทย์ในรูปแบบอิสลามอย่างเต็มที่
ด้านเศรษฐกิจ
เพื่อเป็นแหล่งฝึกฝนอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และผู้ยากไร้ในสังคมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ
ให้สามารถหล่อเลี้ยงสังคม รวมทั้งขยายต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียง
โดยเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และกระจายรายได้มากที่สุด
ด้านสวัสดิการสังคม
เพื่อสร้างสังคมการอยู่อาศัยแบบช่วยเหลือ
พึ่งพาซึ่งกันและกัน มีรูปแบบสวัสดิการทางสังคม เช่น ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกำพร้า
ศูนย์รับเลี้ยงเด็กก่อนเกณฑ์ อื่นๆ
ที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนรากฐานของวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบอิสลามอย่างเข้มข้น
สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี
เพื่อสร้างสังคม
ชุมชน ที่อยู่อย่างถูกสุขลักษณะ มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งตัวเองและสังคม
ทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมกันว่า
“มะดีนะตุสสลาม” ซึ่งให้ความหมายว่า เป็นเมืองในอุดมคติที่มีความเป็นอยู่ที่ดีรอบด้าน
ทั้งปัจเจกบุคคล และสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น